Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
ประกันคุ้มครองบุคคลสำคัญ...สวัสดิการดีดีจากบริษัท
ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจทั้งหลายเห็นด้วยมั้ยว่า กรรมการหรือผู้บริหารถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เพราะเป็นผู้ที่สร้างเงิน สร้างกำไรให้กับธุรกิจ โดยถ้ามีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก็คือ การทำประกันบุคคลสำคัญ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ประกัน Keyman รายละเอียดเป็นอย่างไร K-Expert มีข้อมูลมาฝากค่ะ
ประกัน Keyman คืออะไร

ประกัน Keyman เป็นการทำประกันชีวิตให้กับบุคคลสำคัญของบริษัท โดยบุคคลสำคัญเป็นผู้เอาประกัน และบริษัทเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน ซึ่งบุคคลที่บริษัททำประกัน Keyman ให้ ต้องเป็นกรรมการที่มีชื่ออยู่ในหนังสือจดทะเบียนการค้า และทำให้กรรมการทุกคน ไม่สามารถเลือกทำให้คนใดคนหนึ่ง นอกจากนี้ กรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่ไม่มีชื่อในหนังสือจดทะเบียนการค้าก็ไม่สามารถทำประกันนี้ได้ หรือถ้าจะทำให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องทำให้ทุกคนที่มีตำแหน่งในระดับเดียวกัน

สำหรับแบบประกันชีวิตที่สามารถทำได้ คือ แบบชั่วระยะเวลา แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ แต่ไม่สามารถทำประกันชีวิตที่มีลักษณะการลงทุนได้ คือ ยูนิตลิงค์ ยูนิเวอร์แซลไลฟ์ และแบบประกันที่ชำระเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ สามารถเพิ่มความคุ้มครองด้วยสัญญาแนบท้ายประกันชีวิต เช่น สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ โรคร้ายแรง อุบัติเหตุ เป็นต้น

ค่าเบี้ยประกันสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หรือไม่

บริษัทที่ชำระค่าเบี้ยประกัน Keyman ให้กรรมการ สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ทั้งจำนวน โดยกรรมการต้องนำค่าเบี้ยประกันดังกล่าวมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาในปีที่มีการชำระค่าเบี้ยประกันให้

ทั้งนี้ กรรมการสามารถนำค่าเบี้ยประกันของกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หรือถ้าเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีในปีนั้น สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อกรรมการต้องนำค่าเบี้ยประกันมารวมเป็นเงินได้ อาจทำให้กรรมการต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น ซึ่งบริษัทก็สามารถจ่ายภาษีให้กับกรรมการได้

ใครสามารถเป็นผู้รับประโยชน์ของประกัน Keyman ได้บ้าง

ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์สามารถเป็นบริษัท หรือคนในครอบครัวของกรรมการก็ได้ ซึ่งการจ่ายเงินตามกรมธรรม์มี 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 กรรมการเสียชีวิต: ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบริษัทหรือนิติบุคคล จะต้องนำเงินชดเชยจากประกันมารวมเป็นรายได้ของบริษัท แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นคนในครอบครัวของกรรมการหรือเป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่ 2 กรรมการมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญา: กรรมการจะได้รับเงินตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ โดยไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษี สำหรับเงินจ่ายคืนระหว่างกรมธรรม์ที่จ่ายให้กรรมการซึ่งเป็นผู้เอาประกันนั้น จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเช่นกันค่ะ

เมื่อกรรมการลาออก ต้องทำอย่างไร

กรณีที่กรรมการลาออกระหว่างชำระเบี้ยประกัน ถ้ากรรมการต้องการชำระเบี้ยประกันต่อเอง สามารถแจ้งบริษัทประกันเพื่อเปลี่ยนผู้ชำระเบี้ย โดยกรรมการไม่ต้องนำเบี้ยประกันไปรวมเป็นเงินได้ และบริษัทก็ไม่สามารถนำเบี้ยประกันมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีก หรือถ้ากรรมการไม่ต้องการส่งเบี้ยประกันต่อ สามารถใช้สิทธิตามที่ระบุในกรมธรรม์ เช่น การเวนคืน การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ การแปลงเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลา เป็นต้น

สำหรับกรณีที่ชำระเบี้ยประกันครบแล้ว สามารถคงความคุ้มครองต่อไปตามระยะเวลาของกรมธรรม์ หรือใช้สิทธิตามที่ระบุในกรมธรรม์ได้ค่ะ

จะเห็นได้ว่า การทำประกัน Keyman ให้กับกรรมการหรือผู้บริหาร ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับบริษัทเมื่อต้องสูญเสียบุคคลสำคัญนี้ไป เป็นการวางแผนด้านการเงินให้กับบริษัท โดยสามารถนำเบี้ยประกันมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ทั้งจำนวน และที่สำคัญเป็นสวัสดิการแก่กรรมการหรือผู้บริหาร สร้างขวัญกำลังใจทำให้รักองค์กรมากขึ้นด้วยค่ะ

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY